หมวดหมู่: เศรษฐกิจทั่วไป

1aaa7aเอกชนไทย


เอกชนไทย-อังกฤษ ขยายความร่วมมือเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนสองประเทศ

     ผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร ตกลงร่วมขยายขอบเขตหน้าที่ของสภาฯ ในการประชุมครั้งที่ 3 โดยสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลไทยและสหราชอาณาจักร พร้อมนำรายงานเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผลักดันการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ

      สมาชิกสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร ประกอบด้วย ภาคเอกชนไทย 12 องค์กร นำโดย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานฝ่ายไทย และ ภาคเอกชนสหราชอาณาจักร 11 องค์กร นำโดย นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะทำงานทั้งสามด้านภายใต้สภาฯ ได้แก่ 1) คณะทำงานความร่วมมือด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และโอกาสในการลงทุน 2) คณะทำงานด้านการอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ 3) คณะทำงานด้านโอกาสในการส่งออกและห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันพิจารณาแนวทางในอนาคตพร้อมการปรับปรุงกรอบการทำงานของสภาฯ อีกทั้งได้ร่วมหารือเพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมเสนอรัฐบาลพิจารณาการทำข้อตกลงการค้าเสรี หลังจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปสำเร็จ

      นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานฝ่ายไทย เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและผู้นำธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยมีความพยายามที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และอุปสรรคต่างๆ ที่รัฐบาลทั้งสองประเทศจำเป็นต้องก้าวข้ามเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน นับแต่การลงนามในแถลงการณ์ร่วมจัดตั้งสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 กลุ่มผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นผ่านมุมมองของผู้ค้าและนักลงทุนแก่รัฐบาลไทยและสหราชอาณาจักร เพื่อสร้างโอกาสที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจชั้นนำของไทยและสหราชอาณาจักรจะรายงานความก้าวหน้าและประเด็นสำคัญจากการประชุมให้กับรัฐบาลแต่ละประเทศเพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบ หรือแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการทำธุรกิจระหว่างกัน เพื่อที่จะผลักดันธุรกิจการค้าและการลงทุน

     นายเทวินทร์ กล่าวว่า ประเด็นส่วนใหญ่ที่ได้รับการหยิบยกให้การประชุมครั้งก่อนได้รับการแก้ไขและรายงานให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบและรัฐบาลทั้งสองประเทศ เช่น ประเด็นการพัฒนาแรงงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ และยังมีอีกหลายประเด็นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่

     1. ความร่วมมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น Digitization ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) วัสดุขั้นสูง (Advanced materials) เป็นต้น ซึ่งจะเป็นหัวข้อความร่วมมือที่สามารถใช้ในผลักดันร่วมกับภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร

     2. ความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ผ่านความสามารถทางกลุ่มธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและการบริการ ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางธุรกิจในด้านอาหาร และประกันสุขภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มบริษัททางฝั่งสหราชอาณาจักรสามารถร่วมให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการรักษาทางการแพทย์

    3. เตรียมความพร้อมด้านข้อมูลจากมุมมองของฝั่งธุรกิจสำหรับสนับสนุนการทำข้อตกลงการค้าเสรีในอนาคตระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ

      นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบรับความต้องการจากกลุ่มผู้นำทางธุรกิจจากประเทศสหราชอาณาจักร ได้แก่

      1. รัฐบาลไทยมีความพยายามปรับปรุงกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวของประเทศ ให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ

     2. การให้แรงจูงใจกับนักลงทุนต่างประเทศในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลไทย

    3. ประเทศไทยกำลังมองหาโอกาสในการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ร่วมกับสหราชอาณาจักร ซึ่งสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรก็จะเป็นกลไกที่สำคัญในการให้ข้อมูลจากมุมมองฝั่งธุรกิจของทั้งสองประเทศ

    นอกจากนี้ สมาชิกสภาฯ ยังได้หารือทบทวนขอบเขตหน้าที่การทำงานของสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร ในการสร้างประโยชน์ให้แก่รัฐบาลทั้งสองประเทศ อาทิเช่น การแบ่งปันข้อมูลด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive technology) และด้าน digitization เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสมาชิกสภาฯ

     นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เน้นย้ำว่าสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมทั้งเป็นตัวช่วยในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

     สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรได้ก่อตั้งในปี 2559 เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายความร่วมมือระหว่างธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ผ่านการสร้างพันธมิตร การพัฒนาธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริง ของกฎระเบียบ ที่อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ระหว่างภาครัฐบาล และภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ

 

Click Donate Support Web

bestchangeBIT FUN728x90

yobit 560 60

8

468x60 bit

468x60 DOG

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!