หมวดหมู่: เกษตร

1aaaA1A


กองทัพเกษตรกร บุกพบคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยืนยันไม่แบนการใช้ 3 สารเคมี แต่จำกัดการใช้แทน

     สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และกลุ่มเกษตรปลูกผัก ผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย กว่า 100 ราย ยื่นหนังสือขอบคุณ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย หลังจากมีมติ ไม่แบนการใช้ 3 สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ให้จำกัดการใช้แทน

        นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ผู้แทนคณะเกษตรกรกว่า 100 ราย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการพิจารณาจากข้อมูล 3 สารเคมี ที่คณะอนุกรรมการเสนอเข้ามา ทั้งข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากฝ่ายผู้สนับสนุนและคัดค้าน เห็นว่า ยังมีเหตุผลไม่มากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้ แต่ให้จำกัดการใช้แทนนั้น เกษตรกร ขอยืนยันการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ตัดสินอย่างรอบคอบ เป็นธรรม เป็นกลาง โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลจากฝ่ายใด และเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่เป็นที่พึ่งของเกษตรกร จึงขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

       ทั้งนี้ ดร.นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ได้แสดงความคิดเห็นว่า'คนที่รู้ความแล้วคงพอรู้ว่าสารทุกชนิดที่คนนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ทางเกษตรกรรมหรือทางแพทย์เป็นสารพิษทั้งนั้น' มากน้อยแล้วแต่ชนิดสาร 'แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้สารพิษจริงๆ ก็หาวิธีการควบคุมการใช้ให้ถูกต้อง' ยาที่หมอใช้รักษาคนไข้ก็มีพิษ แต่เขามีเอกสารแจ้งวิธีใช้ที่ถูกต้อง ถ้าคนไข้เอาไปใช้อย่างถูกต้องก็ได้ประโยชน์และไม่เกิดโทษ มีข่าวบ่อยๆ ที่คนเอายาไปกินฆ่าตัวตายกัน สารทางเกษตรกรรมก็เช่นกัน ถ้ามีการกำกับดูแลอย่างถูกต้อง การใช้ก็เป็นประโยชน์ไม่เกิดโทษ

       นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า “วันนี้ เกษตรกร 100 ราย ได้มีโอกาสยื่นหนังสือให้แก่ นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเรียกร้องให้เกิดการพิจารณาอย่างเป็นธรรม รับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย ในการอนุมัติให้เกษตรกรได้'ใช้พาราควอต' ในภาคการเกษตรต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะรายงานผลให้ทราบภายใน 15 วัน

      “ขณะเดียวกัน เกษตรกรได้เข้าพบนางวิไลวรรณ พรหมคำ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้กำลังใจ และพิจารณาในเรื่องมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี ที่ให้ลดการนำเข้าสารเคมี ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า ปริมาณความต้องการซื้อสูงกว่าปริมาณการขาย ส่งผลเกษตรกรต้องซื้อในราคาสูงขึ้น เพิ่มขึ้นโดยรวมปีละ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังไม่สามารถหาสารชีวภัณฑ์หรือวิธีการอื่นใดมากำจัดวัชพืชในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรได้ รวมทั้ง เกษตรกรได้ตรวจสอบสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับการกล่าวอ้างว่าทดแทนได้ พบว่า มิได้เป็นสารธรรมชาติแต่อย่างใด ทว่าเป็นสารที่มีส่วนผสมของสารเคมีเช่นเดิม และมีข้อสงสัยด้านความปลอดภัย” นายสุกรรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

        “ตลอดระยะเวลา 2   ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเกิดความเสียหายจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจสอบวิเคราะห์ดินและน้ำจากหนองบัวลำภูแล้วว่า ไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต ตามที่ เอ็นจีโอ เคยกล่าวอ้าง ส่งผลกระทบให้'เกษตรกร เป็นจำเลยสังคม”'จึงอยากให้กรมวิชาการเกษตร มีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นในทิศทางเดียวกัน ไม่ควรเอื้อประโยชน์ต่อสารเคมีใดสารเคมีหนึ่ง ไม่เช่นนั้นเกษตรกรอาจคิดได้ว่า การที่กรมฯ 'แบนพาราควอตนั้น เพื่อผลประโยชน์ของใคร?' และขอให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริง ตระหนักถึงความสำคัญต่อการปฏิบัติและใช้สารเคมีของเกษตรกรเป็นหลัก เพื่อยกระดับเกษตรปลอดภัยไทยให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน”นางสาวอัญชุลี กล่าวสรุป

 

แบน 10 เหตุผล ที่ไม่เอาสารพาราควอต

    พาราควอต เป็นสารพิษทางการเกษตรที่มีการต่อต้านกันทั่วโลก สำหรับประเทศไทยแม้มีการออกประกาศยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีผู้เสียผลประโยชน์พยายามเคลื่อนไหวให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว

       จากรายงานของมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่าสารพาราควอต มีความเป็นพิษและกระบวนการทำงานคือจะถูกดูดซึมอย่างช้าๆในทางเดินอาหาร และผิวหนังปกติ ยกเว้นถ้าผิวหนังมีแผลการดูดซึมจะมากขึ้น จนทำให้เกิดการเป็นพิษได้ พาราควอตจะดูดซึมเข้าไปในเลือด จะกระจายไปอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆเช่น ตับ ไต และปอดเป็นต้น สะสมเป็นพิษจนไตวายได้

      ตั้งแต่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงได้มีมติ ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้อย่างเด็ดขาด ก็มีความพยายามเคลื่อนไหวของภาคเอกชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาล “ยกเลิกมติ” ดังกล่าว ขณะนี้มีตัวแทนจากภาค NGO ตลอดจนสายงานสาธารณสุขออกมาให้ความรู้ถึงพิษภัยของ พาราควอตไว้ 10 ประการดังนี้

      1.พิษเฉียบพลันสูง หากเข้าทางปากเพียง 1 ช้อนชามีฤทธิ์ถึงตาย และหากเกิดการสัมผัสประมาณ 10-15 % จากผิวหนังที่เกิดจากอุบัติเหตุระหว่างการใช้สารดังกล่าวก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

      2.ก่อโรคพาร์กินสัน จากสถิติที่ผ่านมาคนเอเชียในการใช้สารดังกล่าวทางการเกษตร จึงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า 11 เท่า

      3.สารนี้จะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารดังกล่าวส่งผลกระทบกับแม่และทารกแรกเกิดหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารดังกล่าวเจือปน นอกจากนี้สารดังกล่าวยังเป็นตัวทำลายจุลินทรีย์ในดิน ดึงปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของพืช และจากการวิจัยเชื่อว่าอาจสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่า

     4.สารดังกล่าวมีประเทศไม่น้อยกว่า 53 แห่งได้ประกาศยกเลิกไปแล้ว เช่น อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศผู้คิดค้นสารดังกล่าว สวิส(ประเทศเจ้าของตลาด) จีน (ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่) และบราซิล (หนึ่งในประเทศที่เคยมีการใช้มากที่สุด) อีก 16 ประเทศได้มีการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด และที่เหลือคือประเทศที่มีกฎหมายอ่อนแอ

      5.ตลาดปฏิเสธ สินค้าเกษตรจากฟาร์มที่ใช้พาราควอตเช่น RSPO (ปาล์ม) บริษัทส่งออกไม้ผลยักษ์ใหญ่ของโลก และห้างค้าปลีกในยุโรป ต่างให้การปฏิเสธไม่ขอรับสินค้าดังกล่าวไปจำหน่าย

       6.UN ประณามผู้ส่งออก ผู้ตรวจการด้านสิทธิมนุษยชนประณามประเทศที่ตนเองห้ามใช้ แต่ส่งออกประเทศอื่นต้องรับความเสี่ยง

       7.ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 4 หน่วยงานองกระทรวงได้เสนอแบนไม่ให้ใช้สารดังกล่าว

       8.สภาเกษตรแห่งชาติ และ สช. สนับสนุนให้เลิกใช้ ร่วมกับประชาชน 369 องค์กรจาก 50 จังหวัดทั่วประเทศ ในขณะที่ผู้คัดค้านคือ บรรษัทสารพิษ องค์กรบังหน้าและผู้ว่าจ้างให้คนอื่นฉีดพ่นรับความเสี่ยงตายแทน

      9.ซีพี/มิตรผล ประกาศถอย ประธานซีพีกรุ๊ป แถลงพร้อมยุติการขายพาราควอต ส่วนมิตรผลติดป้ายไม่สนับสนุนการใช้

      10.มีวิธีการจัดการวัชพืชที่ดีกว่า /คุ้มกว่าพาราควอต ม.เกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตรพบว่าในกรณีอ้อย การใช้จอบหมุนติดแทรกเตอร์ ต้นทุนต่ำกว่าและให้ผลผลิตที่มากกว่า กรมวิชาการเกษตรวิจัยใน 7 จังหวัด พบว่าในกรณีมันสำปะหลัง การใช้สารอื่นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าพาราควอต งานวิจัยในมาเลเซียและอินโดนีเซียพบว่ามีสารอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คุ้มค่ากว่า บริษัทปาล์มยักษ์ใหญ่ของโลกกว่า 14 ล้านไร่ ใช้วิธีการอื่นทดแทนพาราควอต

       ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้บริโภค ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสุขภาพที่ได้จากสารดังกล่าว จำเป็นต้องออกมาแสดงจุดยืนต่อการใช้สารพาราควอตในภาคการเกษตรของไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!