หมวดหมู่: ASAIN

ชะโงกดู'ทางสายไหม' เชื่อม ศก.'จีน-อาเซียน'

มติชนออนไลน์ :  

 



      ระหว่างเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อกลางสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีโอกาสหารือแบบทวิภาคกับ 2 ผู้นำสูงสุดของจีน คือ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกฯหลี่ เค่อเฉียง มีข้อตกลงร่วมกันจะฟื้นฟู 'เส้นทางสายไหม' เส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าสำคัญในยุคโบราณ เชื่อมต่อรัฐต่อรัฐ และภูมิภาคต่อภูมิภาค 

    'สุจิตต์ วงษ์เทศ'นักเขียนและผู้ค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดี อธิบายเส้นทางสายไหมในครั้งอดีตว่า คนจีนเกี่ยวข้องกับไทยบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ทั้งตอนล่างและตอนบน ตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว การค้าทางทะเลเมื่อราว 2,500 ปีก่อนตะวันตก (อินเดีย-เปอร์เซีย) แลกเปลี่ยนค้าขายกับตะวันออก (จีน) ต้องแล่นเรือเลียบชายฝั่งผ่านดินแดนสุวรรณภูมิ ที่เป็นแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ แต่ขณะนั้นยังไม่มีประเทศไทยและจีน ยังไม่มีคนเรียกตัวเองว่าคนไทยและคนจีน แต่ดินแดนและผู้คนที่มีการติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันครั้งนั้นล้วนเป็นดินแดนเริ่มแรกของประเทศไทย-จีน กับบรรพชนของชาวไทยและจีนในปัจจุบัน

     แต่สำหรับเส้นทางสายไหมยุคใหม่ไทย-จีน เห็นชอบร่วมมือกันสร้างโครงข่ายยุทธศาสตร์ โดยจีนจะเป็นยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมจากจีนสู่อาเซียน ส่วนไทยจะเป็นยุทธศาสตร์เชื่อมโยงไทยกับประเทศอาเซียน

     เบื้องต้นจะลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร จากนครคุนหมิง-ลาว เพื่อมาเชื่อมต่อกับไทยที่ชายแดนจังหวัดหนองคายด้วย โดยเส้นทางนี้จะเป็นอีก 1 เส้นทางที่จีนจะเชื่อมโยงเข้ามายังอาเซียน นอกจากเส้นทางรถไฟที่จีนจะเชื่อมไปยังเวียดนามผ่านฮานอย-โฮจิมินห์-กัมพูชา เข้ามาต่อกับไทยที่ชายแดนอรัญประเทศ และเส้นทางจีน-พม่า-ไทย โดยมีจุดประสงค์เชื่อมต่อเส้นทางรถไฟยาวไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์

      ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทย ก็จะต้องเดินหน้าตามยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟและถนนเข้ากับอาเซียนเพื่อให้เกิดเส้นทางสายไหมในการขนส่งสินค้าและบริการได้อย่างครอบคลุมสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง 

    และหากพิจารณาการดำเนินงานของไทยในช่วงที่ผ่านมาก็ถือว่าได้ดำเนินโครงการเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างเส้นทาง R1 ที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ-พนมเปญ-โฮจิมินห์ซิตี้-วังเตา โดยทางฝั่งไทยได้ก่อสร้างจากกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี-อรัญประเทศ ระยะทางประมาณ 310 กิโลเมตร เส้นทาง R2 โครงข่ายถนนเชื่อมโยงแนวตะวันออก-ตะวันตก (อีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์) ไทย-ลาว-เวียดนาม เริ่มต้นจากเมืองเมาะละแหม่งของพม่า ผ่านไทยที่อำเภอเม่สอด จังหวัดตาก ผ่านออกไปยังลาวที่มุกดาหาร ไปสะหวันนะเขต เข้าเวียดนามที่ลาวบาว ผ่านดองฮาไปสิ้นสุดที่เมืองดานัง เส้นทาง R10 โครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนาม เริ่มจากจังหวัดตราด-เกาะกง-อำเภอสะแรอัมเบิล-สีหนุวิลล์-คาเมา (เวียดนาม) 

     ส่วนเส้นทางที่เชื่อมไปถึงจีนโดยตรงจะเป็น R3A ไทย-ลาว-จีน เริ่มจากเชียงราย-อำเภอเชียง ระยะทางประมาณ 113 กิโลเมตร ข้ามแม่น้ำโขงไปยังแขวงบ่อแก้วของลาวไปยังเวียงภูคา หลวงน้ำทา และเชื่อมต่อชายแดนจีนที่บ่อเต็น ไปยังเมืองเชียงรุ่ง สิ้นสุดที่คุนหมิง รวมระยะทางจากเชียงราย-คุนหมิง ประมาณ 1,200 กิโลเมตร และเส้นทาง R3B ไทย-พม่า-จีน เส้นทางเริ่มจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เชื่อมต่อกับท่าขี้เหล็กของพม่า ผ่านเมืองเชียงตุงไปต่อพรมแดนพม่า-จีน ที่ดาลั๊ว จากนั้นจะไปรวมกับเส้นทาง R3A ที่เมืองเชียงรุ้ง ไปยังคุนหมิง รวมระยะทางจากแม่สาย-เชียงรุ้ง ประมาณ 380 กิโลเมตร 

    นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างท่าเรือเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากจีน-ลาว-ไทยในแม่น้ำโขง คือ ท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 1 ที่ตำบลเวียงเชียงแสน อำเภอเชียงแสน และท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 ที่บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ทดแทนท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 1 ซึ่งมีขนาดเล็กและตั้งอยู่กลางตัวเมือง โดยท่าเรือแห่งที่ 2 อยู่ห่างจากท่าเรือแห่งที่ 1 ไปประมาณ 10 กิโลเมตร 

     ขณะที่รัฐบาลยังวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยอีกหลายโครงการ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกับอาเซียนและเกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหมด้วยเช่นเดียวกัน โดยโครงการต่างๆ ดังกล่าวจะอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ระยะเร่งด่วนจะมีโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็ว 160-180 กิโลเมตร ที่ไทยร่วมมือกับจีนใน 3 ช่วงด้วย คือ ช่วงหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย ช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ และช่วงแก่งคอย-ชลบุรี-มาบตาพุด รวมระยะทางประมาณ 867 กิโลเมตร ตามแผนงานจะมีการศึกษาและออกแบบได้ในปี 2558 และเริ่มก่อสร้างในปี 2559

     ขณะเดียวกันยังมีอีก 1 เส้นทาง ที่อยู่ในแผนระยะเร่งจะต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลยังไม่สรุปว่าจะให้ใครเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ส่วนเส้นทางอื่นๆ เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เส้นทางเชียงของ-เด่นชัย-กรุงเทพฯ หรือเส้นทางกรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์-ปาดังเบซาร์ ที่จะเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียไปสิงคโปร์ ยังไม่มีการพูดถึงในระยะเร่งด่วน แต่อยู่ในแผนที่จะต้องดำเนินการระยะต่อไปอยู่แล้ว 

ที่สำคัญไม่แพ้กันคงจะเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ราง 1 เมตร ระยะเร่งด่วนอีก 6 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร 2.เส้นทางชุมทางถนนจิระ(นครราชสีมา)-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร 3.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร 4.เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร 5.เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร และเส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร 

     ส่วนระยะที่ 2 จะดำเนินการหลังจากระยะแรกเริ่มดำเนินการแล้ว คือ 1.เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร 2.เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร 3.เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กิโลเมตร 4.เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร 5.เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร 6.เส้นทางสุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 กิโลเมตร 7.เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร และ 8.เส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กิโลเมตร 

     จะเห็นว่า เมื่อสามารถก่อสร้างรถไฟทางคู่ได้ครบตามแผนที่กำหนดแล้ว จะสามารถเชื่อมโยงระบบรางเพื่อขนส่งสินค้าและบริการเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

     ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีอีก 4 เส้นทาง คือ 1.ทล.212 อำเภอโพนพิสัย-บึงกาฬ ตอนที่ 1 ระยะทาง 30 กิโลเมตร 2.ทล.12 ตาก-แม่สอด ตอน 3 ระยะทาง 25.50 กิโลเมตร 3.ทล.12 กาฬสินธุ์-อำเภอสมเด็จ ตอน 2 ระยะทาง 11 กิโลเมตร และ 4.ทล.3 ตราด-หาดเล็ก ตอน 2 จังหวัดตราด ระยะทาง 35 กิโลเมตร 

      ทั้งหมด คือแผนแม่บทของเส้นทางสายไหมยุคที่เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างจีนและประเทศในอาเซียนเพื่อกระตุ้นการค้าให้เติบโตมากยิ่งขึ้น....

 

 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!