หมวดหมู่: คอรัปชั่น

CAC เดินหน้าขยายเครือข่ายธุรกิจต่อต้านทุจริตเป็น 600 บริษัทในปี 2558 เน้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง

     แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็น 600 บริษัทในปี 2558 จาก 406 บริษัทในปี 2557 โดยจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการดึงกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการประมูลงานภาครัฐเข้ามาเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ นอกจากนี้ CAC ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้บริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไปแล้ว ดำเนินการให้มีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด และเพิ่มจำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC เป็น 200 บริษัท ในปี 2558 จาก 78 บริษัทเมื่อสิ้นปี 2557

     CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ เมื่อสิ้นปี 2557 มีจำนวนบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC แล้ว 406 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 212 บริษัท) เพิ่มขึ้นถึง 138 บริษัทจาก 268 บริษัทเมื่อสิ้นปี 2556 โดยในจำนวนนี้ มีบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC แล้ว 78 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 22 บริษัทเมื่อสิ้นปี 2556

   “ปีที่แล้วเป็นปีที่ภาคธุรกิจของไทยมีความตื่นตัวอย่างมากในเรื่องของธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน ดังจะเห็นได้จากการที่ทั้งจำนวนบริษัทที่เข้าประกาศเจตนารมณ์ และบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริบททางสังคมและการเมืองที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของความโปร่งใสมากขึ้น

     รวมถึงการแสดงท่าทีเอาจริงเอาจังมากขึ้นของภาครัฐในการที่จะขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน” ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ CAC กล่าวและเสริมว่า “นอกจากจะตั้งเป้าหมายการขยายแนวร่วมฯ อย่างท้าทายแล้ว ในปีนี้ ทาง CAC ยังจะเน้นไปที่การพยายามดึงภาคธุรกิจที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่อการทุจริตสูง

    อย่างเช่นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมูลงานภาครัฐให้เข้ามาเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ อีกด้วย และจะพยายามผลักดันให้บริษัทที่เป็นสมาชิกแนวร่วมฯ อยู่แล้วนำนโยบายต่อต้านการทุจริตไปปฏิบัติจริงจนสามารถผ่านการรับรองจาก CAC ให้ได้เพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว”

    ปัจจัยประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจตื่นตัวมากขึ้นกับเรื่องการต่อต้านทุจริตในช่วงปีที่ผ่านมา ก็คือการที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สนับสนุนให้มีการจัดทำและเผยแพร่ตัวชี้วัดการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย (Anti-corruption Progress Indicator) ซึ่งเป็นดัชนีที่ช่วยบ่งชี้ความก้าวหน้าและแนวทางการยกระดับให้แก่บริษัทจดทะเบียนในเรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้นักลงทุนทราบถึงความมุ่งมั่นและนโยบายการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียนด้วย

      CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT)

   โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา และ UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!