หมวดหมู่: CHINA

TCJA23


 

40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย พัฒนายุทธศาสตร์ 'The Belt and the Road'

                ฯพณฯ หนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนจีน และไทย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2558 ฯพณฯ หนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้พบปะกับ นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน พร้อมด้วยคณะกรรมการของสมาคมฯ และได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนจีนและไทยในประเด็นความสัมพันธ์จีน-ไทย ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสองประเทศ การพัฒนา The Belt and the Road ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนและการใช้ทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงอย่างมีเหตุผล ฯลฯ ณ สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

1. ปีนี้เป็นปีครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย ท่านให้การประเมินของความสัมพันธ์จีน-ไทยไว้อย่างไร และมองไปอนาคตข้างหน้าแล้ว ท่านเห็นว่า ความสัมพันธ์จีน-ไทยควรพัฒนาไปในทางไห

     ทุกคนคงทราบดีว่าปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย 40ปีผ่านมา ความสัมพันธ์จีน-ไทยได้ผ่านการทดสอบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆและกาลเวลา ได้เข้าสู่ช่วงเวลาการพัฒนาใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติ อย่างลุ่มลึกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปรากฏดังนี้

     ประการแรก ความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองของไทย-จีนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สัมพันธไมตรีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณได้รับการกระชับให้ใกล้ชิดขึ้น ประเทศจีนยืดถือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ไม่ว่าสถานการณ์ภายในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไง นโยบายของจีนที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศไทยนั้นไม่เคยหวั่นไหว ซึ่งนโยบายนี้ก็ได้รับการชื่นชมและยกย่องอย่างสูงจากวงการต่างๆของประเทศไทย เราพยายามคบหาเพื่อนใหม่ และไม่เคยลืมมิตรเก่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล รัฐสภา และวงการต่างๆของไทยนั้นได้รับการเสริมสร้างและพัฒนามาโดยตลอด

       ฯพณฯ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียงได้มีการพบปะหารือกับ ฯพณฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในเวทีพหุภาคีและทวิภาคีหลายต่อหลายครั้ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2013 และได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS เมื่อปลายปีที่แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้เสด็จเยือนประเทศจีน 4 ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ 2013 ถึง ค.ศ. 2015 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เยือนประเทศจีนเป็นประเทศแรกนอกเหนือจากประเทศอาเซียน ขณะเดียวกัน ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฯพณฯ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ก็ได้เดินทางไปเยือนประเทศอย่างเป็นลำดับ ในครึ่งปีแรกของปีนี้ ประเทศจีนได้มีผู้นำระดับรองนายกรัฐมนตรี 3 ท่านเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งการไปมาหาสู่และเยี่ยมเยือนอย่างสม่ำเสมอระหว่างผู้นำสองประเทศนั้น แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศได้ให้ความเคารพและให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ในปีที่แล้ว ผู้นำพรรคการเมืองหลัก ๆ ของประเทศไทยก็ได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน เพื่อส่งเสริมมิตรภาพจีน-ไทย

    ประการที่สอง การค้าระหว่างจีน-ไทยพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ ความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กันแน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่สี่ของจีนในประเทศอาเซียน ในช่วงเวลาต้นๆที่จีนกับไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี ค.ศ. 1975 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับไทยนั้นมีแค่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2014 สูงถึง 72600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 พันเท่า การลงทุนซึ่งกันและกันได้เริ่มจากศูนย์จนถึงทุกวันนี้ สูงถึง 6 พันดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเวลา 4 เดือนแรกของปีนี้ ในยามที่เศรษฐกิจโลกฟื้นฟูอย่างอ่อนกำลัง การค้าระหว่างจีน-ไทยกลับมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทจีนได้มีความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น นักธุรกิจและคณะการค้าจากมณฑลและเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะจากพื้นที่พัฒนาของจีน ได้เดินทางมาศึกษาดูงาน แสวงหาโอกาสทางการค้าในประเทศไทย ซึ่งเท่าที่ทราบ บางบริษัทหา Partner ได้แล้ว และบางบริษัทก็ได้มีความตกลงกันที่จะดำเนินความร่วมมือ

     ขอยกตัวอย่าง เมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าได้เดินทางไปเยือนจังหวัดจันทบุรี ภาคตะวันออกของประเทศไทย ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และพ่อค้าผลไม้ของจังหวัดจันทบุรีได้เล้าให้ฟังว่า ช่วงนี้ดีใจมาก เพราะมีพ่อค้าจากประเทศจีนมาสั่งซื้อผลไม้อย่างทุเรียนและมังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี  ทำให้ผลผลิตแทบไม่ทันส่งออก ซึ่งผลไม้ต่าง ๆ ในจังหวัดจันทบุรีนั้น 50% ส่งออกไปประเทศจีน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนให้ชาวสวนปลูกผลไม้มากขึ้น และก็ได้เพิ่มรายได้ให้พวกเขาด้วย อันนี้ก็เป็น Highlight ใหม่ของการค้าระหว่างสองประเทศในปัจจุบัน

     ขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็เชื่อว่า ตั้งแต่รถไฟที่จีนกับไทยจะร่วมสร้างในประเทศไทยเริ่มก่อสร้าง จะช่วยกระตุ้นให้โครงสร้างพื้นฐาน พาณิชย์ โลจิสติกส์และการลงทุนตามเส้นทางนั้นพัฒนาไปด้วย จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย และยกระดับความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยให้สูงยิ่งขึ้น

     ประการที่สาม การไปมาหาสู่กันในภาคเอกชนคึกคักยิ่งขึ้น ทำให้สัมพันธไมตรีระหว่างประชาชนสองประเทศได้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 2 ล้าน 7 แสนคน ได้เพิ่มขึ้น 1 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

    จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังคงครองอันดับที่หนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ถ้าเพิ่มตามนี้ต่อไป ปีนี้นักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวประเทศไทยอาจจะสูงถึง 6 ล้านคน ตัวเลขนี้ไม่ได้คิดขึ้นมาเอง ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ท่านกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ท่านก็เห็นด้วย

    ส่วนการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรนั้น ปัจจุบันนี้มีนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนมากกว่า 2 หมื่นคน เป็นจำนวนมากที่สุดในนักศึกษาของประเทศอาเซียนที่ไปเรียนต่อที่ประเทศจีน ประเทศจีนก็เป็นแหล่งนักศึกษาต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไทย นักศึกษาจีนที่เรียนในประเทศไทยนั้นได้มีจำนวนมากกว่า 2 หมื่นคนเช่นกัน 

   เมื่อทบทวน 40 ปีของการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย ข้าพเจ้ามีความมั่นใจอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของความสัมพันธ์จีน-ไทยในอนาคต เพราะสองประเทศเรามีเป้าหมายการพัฒนาที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้น มีผลประโยชน์ร่วมที่กว้างขวาง ข้าพเจ้าขอย้ำว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างสูงในการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศไทย ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไง นโยบายของประเทศจีนที่เป็นมิตรของประเทศไทยนั้นจะไม่เปลี่ยน ในอนาคตข้างหน้า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนการประสานกันในทุกมิติและทุกชั้นให้มากยิ่งขึ้น เสริมข้อได้เปรียบซึ่งกันและกัน แสวงหาจุดเติบโตใหม่ของการพัฒนา แปรความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีให้เป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มการประสานงานและความร่วมมือให้มากขึ้นในกิจกรรมสำคัญในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ร่วมกันพัฒนา "The Belt and the Road" สร้างสรรค์ประชาคมเอเชียที่มีชะตากรรมร่วมกันให้ประเทศจีนและประเทศไทยเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาสัมพันธไมตรีและบรรลุซึ่งความชนะด้วยกันสำหรับประเทศที่มีระบอบการปกครองที่ต่างกัน

 

2. หลายปีที่ผ่านมา ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-ไทยนั้นได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีบริษัทจีนมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ท่านมีคำแนะนำอย่างไร สำหรับการพัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสองประเทศ และการดำเนินกิจการของบริษัทจีนในประเทศไทยในอนาคต ประเทศจีนมีความคิดและมาตรการอะไรบ้างในการช่วยการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย

      เมื่อเทียบกับความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางการเมืองอย่างดีระหว่างจีน-ไทยแล้ว ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศยังมีศักยภาพการพัฒนาที่สูง เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจไทยต่างมีข้อได้เปรียบที่เสริมกันได้ ควรมีความร่วมมือมากยิ่งขึ้นในปริบทด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยงกันทางด้านการลงทุน และการค้า ฯลฯ การลงทุนควรเป็นจุดเติบโตใหม่สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไทย ปัจจุบันนี้ ประเทศจีนได้เปลี่ยนนโยบายจากดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก มาเป็นดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและไปลงทุนในต่างประเทศให้มีความสำคัญเท่ากัน ปัจจุบันนี้มีบริษัทจีนลงทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคมบริษัทจีนประจำประเทศไทย 160 บริษัท ครอบคลุมทุกๆสาขา ข้าพเจ้าคิดว่า ในอนาคตข้างหน้า ทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะบริษัทจากสองประเทศควรกระชับความร่วมมือทางด้านการลงทุนดังต่อไปนี้

     ประการแรก ควรร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ไทยมีความต้องการและจีนมีข้อได้เปรียบ อาทิเช่น เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง รถบัสรุ่นใหม่ ฯลฯ พร้อมกับการพัฒนาของความร่วมมือในการสร้างรถไฟระหว่างจีน-ไทย ทั้งสองฝ่ายสามารถขยายความร่วมมือในการผลิตเครื่องอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟไปด้วย

       ประการที่สอง พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น การผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าโดยการเผาผลาญขยะ โครงการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานน้ำขนาดเล็ก ฯลฯ

     ประการที่สาม พัฒนาความร่วมมือในการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร ปัจจุบันนี้ มีบริษัทยางพาราขนาดใหญ่ของจีน 8 บริษัทได้สร้างโรงงานหรือมีแผนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย คาดว่าเมื่อถึงปี ค.ศ. 2017 บริษัทยางพาราที่จีนมาลงทุนในไทยนั้น สามารถแปรรูปหรือบริโภคยางพารา 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 สำหรับยอดการผลิตยางพาราของไทยในรอบปี บริษัทเหล่านี้ไม่ใช่บริษัทธรรมดาขนาดเล็กของจีน หากแต่เป็นบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงในจีนหรือทั่วโลก ข้าพเจ้าเชื่อว่า การที่บริษัทยางพาราของจีนมาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทยนั้น จะเป็นประโยชน์ในการรักษาราคายางพาราของไทย และเพิ่มรายได้ให้ชาวสวนยางอีกด้วย

      ประการที่สี่ พัฒนาความร่วมมือเทคโนโลยีสูง ทั้งสองฝ่ายควรขยายและพัฒนาความร่วมมือทางด้านดาวเทียมการสื่อสารและรีโมทเซนซิง ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G การแพทย์และเภสัชกรรม ฯลฯ ฝ่ายจีนยินดีที่จะอาศัยข้อได้เปรียบของตน ช่วยประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีให้มีระดับสูงขึ้น

     ประการที่ห้า เพิ่มความร่วมมือด้านการเงิน ส่งเสริมให้บริษัทของทั้งสองประเทศใช้เงินตราของประเทศทั้งสองในการชำระและลงทุนซึ่งกันและกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่มาจากอัตราแลกเปลี่ยนและลดต้นทุน

 

3.ขอให้ท่านช่วยแนะนำความคืบหน้าของความร่วมมือโครงการรถไฟระหว่างจีน-ไทย ข้อดีที่จีนร่วมมือกับไทยมีอะไรบ้าง

     โครงการความร่วมมือรถไฟระหว่างจีน-ไทยนั้นได้รับความสนใจจากหลาย ๆ วงการของทั้งสองประเทศ ในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เจรจาความร่วมมือรถไฟกับรัฐบาล ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อสิ้นปี ค.ศ. 2014 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง และ นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบรางรถไฟจีน-ไทย และ MOU ว่าด้วยความร่วมมือของการค้าพืชผลการเกษตรระหว่างจีน-ไทยที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือรถไฟระหว่างสองประเทศ โดยความพยายามของทั้งสองฝ่าย ความร่วมมือรถไฟระหว่างจีน-ไทยนั้นได้มีความคืบหน้าอย่างดี คณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางรถไฟระหว่างสองประเทศได้จัดการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง และได้คุยถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของความร่วมมือ

     รัฐบาลจีนยินดีที่จะเข้าร่วมในการพัฒนาระบบรถไฟของไทย ซึ่งจุดยืนนี้ชัดเจนมาก ตั้งแต่โครงการนี้ได้ริเริ่ม ฝ่ายจีนก็ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนฝ่ายไทยในด้านเงินทุน เทคโนโลยีและการอบรมบุคลากร ปัจจุบันนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือในการร่วมสร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ-แก่งคอย-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด โดยการประชุมคณะกรรมการร่วมนั้นได้จัดมาแล้ว 4 ครั้ง และครั้งที่ 5 จะจัดขึ้นในประเทศไทยในสิ้นเดือนมิถุนายน ทั้งสองฝ่ายได้มีความเห็นพ้องต้องกันในโครงสร้างของการดำเนินโครงการ แผนการก่อสร้างและรูปแบบความร่วมมือ ได้เริ่มการศึกษาความเป็นไปได้และมีความคืบหน้าในเชิงบวก

   สำหรับ เรื่องการระดมทุนนั้น มีคนในประเทศไทยเห็นว่าที่จีนมาร่วมมือสร้างรถไฟนั้นจะมุ่งเน้นการหาผลประโยชน์ ไม่อยากลงทุน ซึ่งความเห็นอย่างนี้ฟังไม่ขึ้นโดยสิ้นเชิง ปัจจุบันนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ตกลงการในรูปแบบการระดมทุน ปัจจัยอย่างหนึ่งก็คือ ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงการ โครงสร้างการระดมทุนนั้นจัดมีการหารือและตกลงกันอีกทีในเมื่อการศึกษาความเป็นไปได้เสร็จสิ้นลง ซึ่งก็หมายความว่า รายงานการศึกษาความเป็นไปได้นั้น จะพิจารณาการออกแบบ การวางแผน ความยาว อุปกรณ์เสริม ราคาการก่อสร้าง ฯลฯ ของรถไฟดังกล่าวให้แน่ชัด และโดยบนพื้นฐานนี้ จะมาหารือกันอีกทีว่าทั้งสองฝ่ายต่างจะลงทุนเท่าไหร่

    ในเรื่องที่ว่าจีนมีข้อได้เปรียบอย่างไรบ้างในการพัฒนาการสร้างรถไฟเส้นนี้ ของเรียนอย่างสั้นๆว่า ถึงแม้ว่ารถไฟความเร็วสูงของจีนเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่น แต่ในเวลาอันไม่นานนัก จีนได้เรียนรู้ ศึกษาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง และประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เป็นเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน ประเทศจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งมีความซับซ้อนทางภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศ ประเทศจีนได้ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ สร้างเครือข่ายรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของโลกขึ้นมาโดยใช้เวลาสั้นที่สุด ทุกวันนี้รถไฟของจีนที่เปิดสัญจรอยู่มากกว่า 1 แสนกิโลเมตร โดยในนั้นมีรางรถไฟความเร็วสูง 1 หมื่น 6 พันกิโลเมตร ซึ่งเป็น 60 % ของระยะทางรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก เทคโนโลยี เครื่องจักรรถไฟของจีนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุก ๆ สถานการณ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ในทั่วโลก ยังไม่มีประเทศใดสามารถทำได้ ทางรถไฟของประเทศจีนบางเส้นสร้างในที่ราบสูงที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3 ถึง 4 พันเมตร บางเส้นสร้างในพื้นที่เยือกแข็ง บ้างเส้นสร้างในภูเขาใหญ่ ตลอดเวลาที่เรามีการสร้างรถไฟ สามารถพูดได้ว่ารถไฟจีนมีเทคโนโลยีที่สมบูรณ์และปลอดภัย ที่สำคัญกว่านี้ก็คือ ฝ่ายจีนได้เปิดทางให้ฝ่ายไทยเพื่อเข้าถึงการก่อสร้าง เทคโนโลยี การบริหารจัดการของการเดินรถ รวมทั้งประสบการณ์ของรถไฟจีนอย่างทั่วถึง เรายินดีที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในกับฝ่ายไทยตามความต้องการของประเทศไทย ช่วยอบรมบุคลากรทางด้านรถไฟของไทย และก็จะพิจารณาให้ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยที่มีความพร้อมมาร่วมมือสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้

    ในกระบวนการการความร่วมมือสร้างรถไฟระหว่างจีน-ไทยนั้น ประเทศจีนจะใช้ความจริงใจอย่างเต็มที่และความรับผิดชอบอย่างสูง ร่วมมือกับฝ่ายไทย เพื่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ให้เป็นเส้นทางรถไฟแห่งความปลอดภัยที่ประชาชนชาวไทยให้ความไว้วางใจ เป็นเส้นทางแห่งการพัฒนาที่ประชาชนสองประเทศจักได้รับความเจริญรุ่งเรืองความผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นเส้นทางมิตรภาพที่เชื่อมต่อหัวใจของประชาชนสองประเทศ

               

4. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ ท่านคิดว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีน 'The Belt and the Road' มีจุดเชื่อมต่อกันอย่างไงบ้าง ประเทศจีนและประเทศไทยมีความร่วมมือในด้าน'The Belt and the Road' นี้อย่างไร การที่จีนกับไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นไปอีกขั้นนั้น จะช่วยให้จีนเชื่อมต่อกับอาเซียนได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นหรือไม่

   รัฐบาลจีนได้เสนอพัฒนาแนวเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 นั้น วัตถุประสงค์อยากให้เกิดการเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์กับประเทศรอบด้าน สร้างระเบียงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับสากลและระเบียงความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพสูง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมบนท้องทะเลในศตวรรษที่ 21 การพัฒนายุทธศาสตร์ของ "The Belt and the Road" นั้น มีความเชื่อมโยงกันกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ประเทศจีนยินดีที่จะใช้ประโยชน์ในข้อได้เปรียบของตน ส่งเสริมความร่วมมือในปริมณฑลต่างๆกับประเทศอาเซียน โดยอาศัยการพัฒนา "The Belt and the Road" ทำให้ประเทศอาเซียนและประเทศรอบด้านสามารถมาร่วมแบ่งปันโอกาสทางการค้าที่ได้มาจากการพัฒนาอันรวดเร็วและตลาดอันใหญ่ของประเทศจีน

    ประเทศไทยเชื่อมต่อประเทศอาเซียนทางบกและทางทะเล เป็นจุดเชื่อมอย่างธรรมชาติสำหรับตลาดใหญ่อาเซียนที่มีประชากร 600 ล้านคน มีข้อได้เปรียบทางภูมิประเทศและมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน มีศักยภาพอย่างสูงในการผลักดันพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลของศตวรรษที่ 21 ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลว่า ประเทศไทยกำลังเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายรถไฟและทางหลวง สร้างใหม่และขยายท่าเรือ เพิ่มเที่ยวบินใหม่ เพื่อยกฐานะของตนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและความเชื่อมโยงกันของภูมิภาค ความร่วมมือทางด้านรถไฟระหว่างจีน-ไทยนั้น ก็เป็นโครงการสำคัญที่สองประเทศร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์ 'The Belt and the Road' การที่จีนกับไทยจะเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงกันนั้น และเป็นการแสดงออกล่วงหน้าที่สองประเทศจะร่วมกันพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดเชื่อมต่อทางคมนาคมที่สำคัญในภูมิภาค ยังจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการส่งเสริมความเชื่อมโยงกันของภูมิภาคและการพัฒนาเครือข่ายทางรถไฟ Pan-Asia อีกด้วย

                รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับอาเซียน ถืออาเซียนเป็นทิศทางสำคัญในการทูตของประเทศจีน ยินดีที่จะร่วมกับอาเซียน สร้างประชาคมที่มีชะตากรรมร่วมกัน ตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมาความสัมพันธ์จีน-ไทยได้แดสงบทบาทเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาของความสัมพันธ์จีนกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์จีน-อาเซียน ได้สร้างคุณูปการมากมายสำหรับการพัฒนาของความสัมพันธ์จีน-อาเซียน ในเดือนหน้าประเทศไทยจะหมดวาระเป็นประเทศผู้ประสานงานฯ เราหวังว่าและเชื่อว่า ประเทศไทยจะร่วมมือกับประเทศจีนอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อจะทำให้ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนได้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

               

5. ประเทศจีนได้กลายเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย นักท่องเทียวจีนได้นำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย แต่ก่อนหน้านี้ นักท่องเที่ยวจีนบางคนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนไทยและสื่อมวลชนไทย ท่านมีความเห็นอย่างไรในประเด็นนี้ และมีคำแนะนำอย่างไรกับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

     ประเทศจีนได้เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยติดต่อกันมาหลายปี ได้สร้างประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาล วงการต่างๆในสังคมและประชาชนชาวไทยต่างก็เห็นด้วยและยอมรับ ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนได้ชอบประเทศไทยมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์ น้ำทะเลใส ชายหาดที่สวยงามของภูเก็ต หรือ ภูเขาเขียว น้ำใส บรรยากาศที่เงียบสบายของเชียงใหม่ ต่างได้สร้างความประทับใจอย่างมากให้กับนักท่องเที่ยวจีน ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ความเป็นมิตรและมีน้ำใจของประชาชนชาวไทย ล้วนเป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวในประเทศไทย

    เมื่อปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวในไทยกว่า 4.6 ล้านคน ในจำนวนคนมากขนาดนี้ แต่ละคนจะมีความแตกต่างกันในวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี การสื่อสารอาจไม่คล่อง ระดับการศึกษาก็ไม่เหมือนกัน ทำให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอย้ำว่า นี่เป็นเหตุการณ์ส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ได้เป็นภาพลักษณ์ทั้งหมดของนักท่องเที่ยวจีน ประเทศจีนและประเทศไทยต่างก็เป็นประเทศอารยธรรม มีประเพณีที่ให้เกียรติและให้ความเห็นใจซึ่งกันและกัน หวังว่าเพื่อนมิตรชาวไทยให้มองพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยวจีนบางคนอย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง และหวังว่าสื่อมวลชนทั้งหลายรายงานข่าวเหล่านี้อย่างเที่ยงธรรมและเป็นกลางเช่นกัน ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาของความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับไทยให้มีเสถียรภาพต่อไป

     รัฐบาลและหน่วยงานที่ดูแลการท่องเที่ยวของจีน รวมทั้งสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่จีนประจำประเทศไทย ได้ทำงานมากมาย รวมทั้งมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อที่จะรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวจีนมาถึงเมืองไทยแล้วปฏิบัติตามประเพณีของไทย เราได้จัดทำคู่มือที่แนะนำวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและกฎหมายของไทย เพื่อแจกให้กับนักท่องเที่ยวจีน เพื่อให้เคารพประเพณีไทย ปฏิบัติตามกฎหมายไทย สำหรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะของนักท่องเที่ยวจีนที่เกิดขึ้นแล้วนั้น เราก็ได้เขียนเป็นเรื่องเล่าสั้น ๆ และโพสต์ลงเว็บไซต์ของสถานทูตฯ เพื่อที่จะเป็นบทเรียนให้นักท่องเที่ยวจีน เจ้าหน้ากงสุลของสถานทูตจีนก็ได้ไปสนามบิน และจุดท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ เพื่อไปศึกษาสถานการณ์และแจกเอกสารและคู่มือที่เกี่ยวข้องให้กับนักท่องเที่ยวจีนเช่นกัน ซึ่งมาตรการต่าง ๆนี้ ได้ผลดีในเชิงบวก เมื่อมองจากภาพรวมแล้ว สภาพนักท่องเที่ยวจีนออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศนั้นยังอยู่ในระดับที่ดี ได้รับการยอมรับการประเทศต่างๆทั่วโลกซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย 

     เราก็หวังว่า หน่วยงานที่ดูแลการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้น จะทำงานมากขึ้นในการรักษาสิทธิประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของนักท่องเที่ยวจีน ปราบทัวร์ศูนย์เหรียญและพฤติกรรมที่หลอกลวงนักท่องเที่ยวจีนหรือบังคับซื้อของ ขณะเดียวกัน หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะจัดเตรียมความพร้อมสำหรับมัคคุเทศก์ที่พูดภาษาจีนได้ และแก้ปัญหามัคคุเทศก์พูดภาษาจีนไม่เก่ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพ สรุปแล้ว ปัจจุบันนี้ ความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวระหว่างจีน-ไทยนั้น อยู่ในช่วงการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เรายินดีที่จะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อให้ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวจีน-ไทยนั้นพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพต่อไป

 

6.อย่างที่ทราบกันดีว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากลที่สำคัญของภูมิภาค ฝ่ายจีนจะพัฒนาแม่น้ำโขงให้กลายเป็นแม่น้ำสายเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อช่วยเหลือประเทศและคลายความกังวลใจให้กับประเทศที่อยู่ปลายแม่น้ำโขงได้อย่างไรบ้าง

     รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญอย่างสูงมาโดยตลอดสำหรับความห่วงใยของประเทศที่อยู่ปลายน้ำของแม่น้ำโขง ยินดีที่จะหารือและประสานกันอย่างใกล้โดยผ่านกลไกความร่วมมือในอนุภูมิภาค อาทิคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือกลไกการหารือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งฝ่ายไทยเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อใช้ทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลักดันการพัฒนาของเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค หลายปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำล้านช้างกับประเทศต่างๆ โดยตามคำของของประเทศที่อยู่ในตอนกลางและตอนปลายของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับประเทศเหล่านี้ได้รับรู้ถึงข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ดินฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำ เป็นต้น ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่และการต้อนรับอย่างดีจากประเทศที่อยู่ในกลางและปลายน้ำ บางคนบอกว่า การที่จีนได้สร้างเขื่อนเก็บน้ำในช่วงตอนบนของแม่น้ำโขงนั้น จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำในช่วงปลายแม่น้ำ ข้าพเจ้าขอย้ำว่า การสร้างเขื่อนในตอนบนนั้น ไม่ได้จะเอาน้ำไปใช้ในการเพาะปลูก แต่นำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำ หากยังมีประโยชน์ต่อการปรับปริมาณน้ำในช่วงหน้าฝนและหน้าแล้งด้วย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!