หมวดหมู่: คอรัปชั่น

Anticorrup


คอลัมน์: เป็นเรื่องเป็นราว: อยากเห็น'ผลงาน'จับโกง โดย...องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

    ไทยโพสต์ : ปิยสาร์ วันที่ 6 กันยายน 2558 'องค์กรต่อต้านคอร์ รัปชัน (ประเทศไทย)' กำหนดให้มีงานใหญ่เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 'Active Citizen ...ปลุกสำนึกไทย...ต้านภัยคอร์รัปชัน' ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ 08.00-16.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ในเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์นั่นเอง

    องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เกิดจากการริเริ่มของภาคเอกชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังเป็นปัญหาเลวร้ายที่บั่นทอนการพัฒนาของประเทศในครั้งแรก ใช้ชื่อว่า "ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน" มีองค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ สถาบันการศึกษาและองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมก่อตั้งจำนวน 23 องค์กร ต่อมาเมื่อปี 2556 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยมีสมาชิกเพิ่มเป็น 47 องค์กรในปัจจุบัน และเมื่อปีที่ผ่านมาก็ตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมา โดยมี นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย) ทำหน้าที่นั่งเป็นประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

     จากปี 2553 ที่ภาคเอกชน นำโดย นายดุสิต นนทะนาคร ในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอ การค้าแห่งประเทศไทย ได้ริเริ่มตั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัป ชันขึ้นมานั้น สิ่งที่สังคมไทยได้เห็นและรับรู้ ดูเหมือนจะเป็นปฏิบัติการรณรงค์ ปลุกสังคมไทยให้ตื่นตัว ตื่นรู้ต่อปัญหาการคอร์รัปชัน พร้อมกับสร้างกระบวนการปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการโกง ซึ่งถือเป็นมะเร็งร้ายทำลายประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

    เราได้เห็นโปสเตอร์สวยๆ คลิปวิดีโอกิ๊บเก๋ สปอตโฆษณา โดนใจ เกี่ยวกับความน่ารังเกียจของการโกง ก็จากองค์กรนี้ ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามที่ประสบความสำเร็จไม่มากก็น้อย เพราะการปลูกจิตสำนึก'ต้านโกง'ด้วยการตอกย้ำให้สังคมไทยรู้สึกมีส่วนร่วม สร้างความละอายใจ ไปจนถึงรู้สึกขยะแขยงกับคนกระทำความผิด'ข้างตัว' นั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว องค์กรนี้มิได้มีอำนาจทางกฎหมายใดๆ เลย นอกจากพลังของมวลชนที่จะร่วม'ก่อการ' ใช้อำนาจทางสังคมบังคับให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรม หรือกฎกติกามารยาทที่พึงเป็น

    งานวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 6 ก.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสครบรอบขวบปีที่เราได้กำหนดให้มีวันดังกล่าวนี้ขึ้นมานั้น จึงยังคงยึดโยงอยู่กับรูปแบบการแสดงสัญลักษณ์ ปลุกสำนึกไทยต้านภัยคอร์รัปชัน มากกว่าที่จะมีผลงานเป็น รูปธรรมในด้านการ "จับโกง" เพราะนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประ ธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ แถลงก่อนหน้านี้ว่า ไฮไลต์สำคัญของงานนี้คือ ขอเชิญร่วมเปิด "พิพิธภัณท์กลโกงชาติ"เพราะ "คนไทยลืมง่าย คนโกงเลยได้ใจ" การมีพิพิธภัณฑ์ไว้เตือนใจ ก็จะได้จดจำกันไว้แม่นยำ

     'พิพิธภัณท์กลโกงชาติ' จะมีการนำคดีโกงชาติที่สร้าง ความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศไทยของเรา จำนวน 10 คดีมาคลี่ให้ดูกัน ได้แก่ 1.คดีจำนำข้าว 2.คดีทุจริตก่อสร้าง โรงพัก 3.คดีนกน้อยในไร่ส้ม 4.คดีบางกอกฟิล์มเฟส 5.คดี คลองด่าน 6.คดีสนามฟุตซอลโรงเรียน 7.คดีปลัดสุพจน์ 8.คดีรถหรูเกรย์มาร์เก็ต 9.คดีโกงลำไย 10.คดีป้ายโฆษณา ป้อมตำรวจ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีพิพิธภัณฑ์ถาวรให้ไปได้ทุกวัน ที่รู้สึกว่าว่าง หรืออยากไปเตือนความทรงจำหรือเปล่า

      นอกจากนั้น ก็เป็นธรรมดา ที่จะต้องมีการเสวนาหรืออภิปรายเกี่ยวกับปัญหาการโกง และวิธีป้องกันและปราบปราม สุดท้ายก็สรุปแนวทางต่างๆ เพื่อการปฏิบัติหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า เป็นอีเวนต์หรืองานรณรงค์ความตื่นรู้ ปลุกสำนึกการต่อต้านคอร์รัปชั่น (อีกงาน) เท่านั้น

    ขึ้นปีที่ 2 ของความเข้มแข็งเอาจริงเอาจังของ'องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)' จึงอยากทวงถามหาความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ในการ'ถือธง'รุกเร้าเข้าไปจัดการและกระชากหน้ากากคนโกงในฐานะ'ผู้นำ' ภาคประชาชนที่มีทั้งศักยภาพ ประสิทธิภาพ เพราะองค์กรนี้เป็นแหล่งรวมทรัพยากรบุคคลในด้านต่างๆ มากมาย ที่เชื่อว่า'จับคนโกง' ได้อยู่หมัดแน่นอน หากลงมือทำมากกว่าการ "ชูธง" ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นในเชิงสัญลักษณ์ หรือทำเป็นงานอีเวนต์เท่านั้น

    อาจจะเป็นคำขอร้อง หรือความคาดหวังที่ไม่สอดคล้อง กับนโยบายขององค์กรต่อต้านคอรัปชั่นฯ ที่ระบุว่า ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่'จับ' คนโกง แต่การบริหารจัดการขององค์กรแค่ในห้องประชุม หรือตามเทศกาลต่างๆ ไม่น่าจะเพียงพอกับความต้องการของสังคมไทยในเวลานี้ ที่มองหา 'ผู้นำ' ที่กล้าหาญในการจัดการกับการโกง เพราะแม้แต่คณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ก็มักจะนั่งรอให้คนนำหลักฐานเข้าไปหาเพื่อฟ้องร้องกล่าวโทษ แล้วเป็นการ'เสียของ' หรือไม่ ถ้าหากองค์กรต้อต้านคอรัปชั่นฯ ปฏิเสธภารกิจนี้ ด้วยเหตุผลว่า มีนโยบายให้ข้อมูล ส่งเสริมการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลในมือหากองค์กรฯ ลุกขึ้นมาใช้จับคนโกงส่ง ปปช. ก็จะสามารถสร้างอำนาจทางสังคมที่มีคุณค่ามหาศาล เฉกเช่นที่ได้กระทำในการ'บอยคอต' รายการโทรทัศน์ ซึ่งฉ้อฉลเวลาโฆษณา

    ความสามารถในการปลุกจิตสำนึกไทย ต้านภัยคอร์รัป ชั่นของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอยกย่องชื่นชมว่าได้ใจ โดนใจ และสร้างกระแส กดดันอย่างหลากหลายเป็นวงกว้าง แต่ถ้าลงมือ 'จับคนโกง'ให้เห็นเป็นตัวเป็นตน จะระดมรัวกด'ไลค์'ให้เลยนะจ๊ะ.

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!